3 เหตุผลดีๆ ในการติดตั้งฐานรากแบบเจโบลท์
เจโบลท์ (J-Bolt) หรือ Anchor Bolt เป็นเหล็กตันรูปตัว J ที่ใช้ในงานก่อสร้าง มีหน้าที่ยึดโครงสร้างของฐานรากกับยึดโครงสร้างของเสา, ช่วยกำหนดยึดตำแหน่งของเสา, ช่วยรับแรงดึงที่เกิดจากแรงลมที่กระทำต่ออาคารและกรณีที่มีโมเมนต์ถ่ายจากเสาลงสู่ฐานราก เรียกว่าเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของโครงสร้างในการก่อสร้างเลยก็ว่าได้ หากวางเจโบลท์และเพลทเสาไม่ได้ตามแบบ อาจมีผลโดยตรงต่อความแข็งแรงในระยะยาวของอาคารสำเร็จรูป
ด้วยความที่เจโบลท์ (J-Bolt) เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องติดตั้งให้อย่างดีและแม่นยำ เพื่ออาคารจะได้มั่นคงแข็งแรง สำหรับการยึดเหล็กแผ่นฐานเสาเพื่อติดตั้งเสาเหล็กให้ได้ระดับบนตอม่อนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการติดตั้งแบบเสียบเหล็กในตอม่อด้วยเหล็กเส้นดัดตัวยูคว่ำ (Inserted Plate), การติดตั้งแบบโบลท์เคมี (Chemical Stud Bolt), และการติดตั้งแบบใช้โบลท์ตัวเจ (J-Bolt) วิศวกรหลายคนมักแนะนำการติดตั้งแบบเจโบลท์ (J-Bolt) มากกว่าวิธีอื่น เนื่องจากเป็นวิธีการติดตั้งงานฐานรากที่เหมาะสมกับงานโครงสร้างเหล็กมากที่สุด นอกจากนี้วิศวกรยังให้เหตุผลที่ควรติดตั้งแบบเจโบลท์ (J-Bolt) ดังนี้
1. สามารถปรับระดับได้
การติดตั้งแบบเจโบลท์สามารถปรับระดับให้ตรงตามแบบได้ ซึ่งมันง่ายและแม่นยำต่อการทำงานระบบโครงสร้รางชั้นต่อไป จะทำให้ได้พื้นที่ระนาบ หรือเสาที่มีความเที่ยงตรงมากกว่าการติดตั้งด้วยวิธีอื่นๆ ตัวอาคารจะตั้งฉากสวยงามยิ่งขึ้น
2. ช่วยประหยัดเวลา
การติดตั้งแบบเจโบลท์ยังช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้างได้อย่างดี สามารถผูกเหล็กฝังเจโบลท์เตรียมไว้ก่อนการเทคอนกรีตได้เลย โดยไม่ต้องทำการเจาะหลังจากคอนกรีตแห้งอย่างวิธีการติดตั้งรูปแบบอื่นๆ
3. มีหลายขนาด หลายเกรดให้เลือกตามลักษณะอาคาร
เจโบลท์มีหลายขนาด หลายเกรดความแข็งแรงให้เลือกตามลักษณะอาคาร ทำให้สามารถเลือกปรับเปลี่ยนตามกำลังการใช้งานให้เหมาะสมกับตัวโครงสร้างอาคารได้ตามแต่วิศวกรจะทำการพิจารณา ซึ่งค่อนข้างมีความเป็นมาตรฐานกว่าการใช้เหล็กเส้นมาดัดเป็นตัวยูอย่างแน่นอน
รู้จักกับเจโบลท์: เจโบลท์ (J-Bolt) คืออะไร อยู่ส่วนใหนของฐานราก
การใช้งาน: การวาง เจโบลท์(J Bolt) สำหรับอาคารขนาดใหญ่
วิธีติดตั้งฐานรากแบบเจโบลท์ (J-Bolt) นั้นเป็นวิธีการติดตั้งงานฐานรากที่เหมาะสมกับงานโครงสร้างเหล็ก จึงช่วยเสริมความมั่นคงและแข็งแรงในงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี แต่ทุกขั้นตอนการก่อสร้างจะต้องทำอย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความแข็งแรงของอาคารในระยะยาว